เลือกภาษา
Toggle navigation
หน้าแรก
บริการ
ร่วมงานกับเรา
บทความ
เกี่ยวกับเรา
ติดต่อเรา
ติดต่อสอบถาม 074-801900
233 ซอย 8 ถนนแสงศรี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
เวลาเปิดบริการ
เปิดบริการทุกวัน 24 ชั่วโมง
บทความและความรู้น่าสนใจ
4
OCT
2561
พยาธิตืดหมู … อันตรายที่มากับ “หมู″ กินกึ่งสุกกึ่งดิบ ต้องระวัง
โรคพยาธิตืดหมูขึ้นสมองเกิดขึ้นได้อย่างไร โรคพยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) เกิดจากพยาธิตืดหมูชื่อที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Taenia solium เป็นพยาธิตัวแบนซึ่งเป็นกระเทย (Hermaphrodite) เนื่องจากมีอวัยวะเพศผู้และเพศเมียอยู่ในปล้องเดียวกัน ตัวเต็มวัยมีลักษณะเป็นปล้องแบน (Proglottid) ต่อเป็นสายยาวเป็นเมตร เหตุที่ชื่อว่าพยาธิตืดหมูเนื่องจากมีหมูเป็นเป็นโฮสต์ตัวกลาง พยาธิตืดหมูทำให้เกิดโรคในคนได้ 2 ชนิด คือ โรคพยาธิตืดหมูอาศัยอยู่ในลำไส้ ที่เรียกว่าโรค ทีนิเอซีส (Taeniasis) ซึ่งในกรณีนี้คนทำหน้าที่เป็นโฮสต์สุดท้ายหรือโฮสต์จำเพาะ (Final host หรือ definitive host) และ โรคที่มีพยาธิตัวอ่อนในถุงน้ำ หรือที่เรียกว่า ซีสต์เม็ดสาคู เข้าไปฝังตัวในเนื้อเยื่อของคน เรียกว่าโรคซีสติเซอร์โคซิส (Cysticercosis) ในกรณีนี้คนทำหน้าที่เป็นเป็นโฮสต์ตัวกลาง (Intermediate host ) แทนที่หมู โรคดังกล่าวพบได้ทั่วโลก โดยพบได้บ่อยในประเทศด้อยพัฒนาและในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงทุกแหล่งที่มีการสาธารณสุขที่ไม่ดี ทั้งนี้ ทั่วโลกพบการติดเชื้อโรคนี้ได้ประมาณ 50-100 ล้านคน การติดเชื้อนี้พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและในผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกัน พบมากในผู้ที่ชอบรับประทานหมูสุกๆดิบๆ หรือรับประทานผักสดที่ล้างไม่สะอาด ในประเทศไทยพบมากแถบภาคอิสานเนื่องจากรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ลู่ น้ำตก หมู แหนม ผักสด ผลไม้สด เป็นต้น วงชีวิตของพยาธิตืดหมู โรคซีสติเซอร์โคซิส (Cysticercosis) สามารถเกิดได้ทั้งคนและหมูโดยตัวอ่อนจะฝังตัวตามอวัยวะต่างๆคนจะได้รับเชื้อนี้โดยการรับประทานไข่พยาธิ ขนาด 31-45 ไมโครเมตร (มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) ที่ออกมากับอุจจาระและปนเปื้อนอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด หมูและคนเมื่อได้รับไข่พยาธิจะทำให้เกิดการติดเชื้อ นอกจากจะได้รับเชื้อจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ คนยังได้รับไข่พยาธิจากตัวเต็มวัยที่อยู่ในลำไส้ โดยคนที่มีอาการอาเจียนซึ่งจะขย้อนตัวเต็มวัยเข้าในกระเพาะ ทำให้มีไข่ออกจากปล้องสุกของตัวเต็มวัย จากนั้นเปลือกไข่จะถูกย่อยในทางเดินอาหารทำให้ตัวอ่อน (Oncospheres) ออกจากไข่ และไปเกาะที่ผนังลำไส้ จากนั้นตัวอ่อนจะไชทะลุผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปยังกล้ามเนื้อ สมอง ตับ และเนื้อเยื่ออื่นๆ เจริญเป็นตัวอ่อนในถุงน้ำเรียกว่า ซีสติเซอร์คัส (Cysticercus) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์ประมาณ 0.5-1.5 ซม. ซึ่งอาจก่อให้เกิดพยาธิสภาพที่รุนแรงได้ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่ เรียกว่า ซีสติเซอร์โคซีส แต่ถ้าคนกินซีสต์เม็ดสาคูในเนื้อหมู ตัวอ่อน (Cysticercus) จะออกจากถุงซีสต์ และเกาะกับผนังลำไส้โดยใช้อวัยวะส่วนหัว (Scolex ) ขนาดประมาณ 1 มม. ที่มีตะขอ (Hook) บนโรสเทลลัม (Rostellum) และอวัยวะเกาะดูด (Sucker) อีก 4 อัน จากนั้นเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย โดยพยาธิจะงอกเป็นปล้องๆ ต่อจากส่วนคอ (Neck) ออกไปเรื่อยๆ จนเป็นตัวเต็มวัย และปล่อยปล้องสุก (Gravid proglottid) หลุดออกมากับอุจจาระ วงชีวิตดังกล่าวกินเวลาประมาณ 2-3 เดือน พยาธิตืดตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคน ซึ่งมีความยาวประมาณ 2 ถึง 7 เมตร และมีปล้องประมาณ 1,000-3,000 ปล้อง แต่ละปล้องสุกซึ่งอยู่ส่วนปลายจะมีไข่ประมาณ 30,000- 50,000 ฟอง พยาธิตืดตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้เล็กได้หลายปี ปล้องสุกมีลักษณะสี่เหลี่ยมแบน มองเห็นด้วยตาเปล่า ขนาดประมาณ 1×1.5 ซม. (ซึ่งมีไข่มี่มีตัวอ่อนอยู่ภายใน อัดอยู่เต็มแขนงมดลูก) ซึ่งอยู่ส่วนปลายจะหลุดออกจากตัวเต็มวัย ปล้องสุกนี้เคลื่อนที่ได้ จึงอาจคืบคลานออกมาทางรูทวารได้เอง บางครั้งผู้ปวยจะนำปล้องสุกมาให้แพทย์ดูด้วย ปล้องสุกอาจจะแตกก่อนที่บริเวณลำไส้ใหญ่ และปล่อยไข่ปะปนออกมากับอุจจาระของคนและกระจายอยู่ในธรรมชาติ รอเวลาเข้าสู่คนหรือหมูต่อไป วงชีวิตของพยาธิตืดหมู อาการแสดงออกของโรค โรคพยาธิตืดหมูในลำไส้ (Taeniasis ) พยาธิตัวเต็มวัยในลำไส้จะแย่งอาหารทำให้ผู้ที่มีพยาธินี้จะรับประทานอาหารเก่ง หิวบ่อยแต่ผอมลง น้ำหนักลด นอกจากนั้นอาจจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน หรืออุจจาระบ่อย เนื่องจากเกิดจากการระคายเคืองต่อลำไส้ โรคที่มีซีสต์ของพยาธิตืดหมูที่เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย (Cysticercosis ) ถ้าคนรับประทานไข่พยาธิตืดหมูที่ติดตามผัก ผลไม้ หรืออาเจียนขย้อนปล้องสุกของพยาธินี้มาที่กระเพาะคน คนก็จะทำหน้าที่เป็นโฮสต์ตัวกลางเหมือนหมู พยาธินี้จะเจริญเหมือนในหมู พยาธิตัวอ่อนจะฟักจากไข่แล้วไชทะลุลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดหรือน้ำเหลืองไปยังกล้ามเนื้อหรืออวัยวะต่างๆ เช่นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ สมอง ไขสันหลัง ตา หัวใจ ตับ ปอด โดยเจริญไปเป็นระยะถุงซีสต์ เรียกว่า ซีสติเซอร์คัส (Cysticercus) ซึ่งเป็นตัวอ่อนที่มีส่วนหัว (Scolex) และส่วนคอ (Neck) อยู่ตรงกลางในถุงน้ำเล็กๆ ทำให้มีรูปร่างเหมือนเม็ดสาคูเม็ดใหญ่ จึงเรียกว่า พยาธิเม็ดสาคูในเนื้อหมู หรือ ซีสต์เม็ดสาคูในเนื้อหมู อาการและอาการแสดงออกต่างๆจะขึ้นกับตำแหน่งของซีสต์ ถ้าอยู่ใต้ผิวหนังก็จะมีก้อนใต้ผิวหนัง ถ้าอยู่ที่ตาก็จะปวดตา ตาพร่ามัว สายตาผิดปกติหรือตาบอด เรียกโรคนี้ว่า โรคซีสติเซอร์โคซีส (Cysticercosis) แต่ถ้าซิสต์นี้เกิดขึ้นในเนื้อสมอง ซึ่งอาจจะไม่มีอาการหรืออาจมีอาการ เช่น ทำให้เกิดอาการชัก มือและเท้าชา เป็นลม วิงเวียน หรืออาจจะมีอาการปวดศีรษะเนื่องจาก ซีสต์ไปอุดทางเดินน้ำไขสันหลังทำให้ความดันในสมองสูง ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด เรียกว่า โรคนิวโรซีสติเซอร์โคซีส (Neurocysticercosis) ถ้าผู้ป่วยเป็นมากอาจเสียชีวิตได้ สำหรับพยาธิสภาพโรคนิวโรซีสติเซอร์โคซีสนั้น ส่วนใหญ่พยาธิตัวตืดที่เข้าไปในสมองในช่วงแรกจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบในสมอง เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง กลไกของร่างกายพยายามจะทำให้พยาธิตายลง พอตายก็จะเกิดมีหินปูนมาเกาะอยู่ การที่เกิดแคลเซี่ยมนั่นแสดงว่าตัวพยาธิได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งเกิดขึ้นเป็นหินปูนที่คล้ายๆ แผลเป็นในสมอง แผลเป็นตัวนี้จะเป็นปัญหาระยะยาว เนื่องจากว่าจะทำให้ไฟฟ้าในสมองส่วนตำแหน่งนั้นผิดปกติ ทำให้เกิดอาการวูบหรืออาการชักตามมาได้ โดยทั่วไปมักจะบอกไม่ได้ว่าแคลเซี่ยมตัวนี้เกิดเมื่อไหร่ แต่คงเกิดมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนใหญ่คนที่มีหินปูนแล้วมักไม่ทราบว่าตัวเองมีโรค ในกรณีที่อดนอนหรือทำงานเหนื่อย อาจเกิดอาการวูบขึ้นมา ซึ่งเมื่อมาพบแพทย์ก็จะตรวจพบว่ามีตัวพยาธิอยู่ในสมองแล้ว ถ้าพยาธิไปอยู่ที่ส่วนไม่สำคัญและมีจำนวนน้อย ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดปรากฏ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะหายเป็นปกติ การติดต่อของพยาธิตืดหมู จากการดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีไข่ของพยาธิ เช่น ผัก ผลไม้ ที่ผลิตผลอยู่บนดินหรือมีหัวอยู่ในดิน เช่น สตรอเบอรี่ แครอท หัวไชเท้า รวมทั้งพืชผักที่ใช้อุจจระของคนเป็นปุ๋ย เป็นต้น จากการรับประทานตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในกล้ามเนื้อของหมูซึ่งทำเป็นอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ลู่ หมู น้ำตก แหนมดิบ เป็นต้น จากการที่ขย้อนปล้องสุกเข้าสู่กระเพาะ ทำให้เหมือนเรากินไข่พยาธิเข้าไปกับอาหาร จากการที่ผู้ป่วยที่มีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้ ใช้มือล้างหรือเกาบริเวณทวารหนัก แล้วมีไข่พยาธิที่มาติดอยู่บริเวณนั้นติดนิ้วมือไป ถ้าผู้ป่วยไม่ล้างมือแล้วใช้มือจับอาหารเข้าปากหรืออมนิ้ว ก็จะได้ไข่พยาธิเข้าปากของตัวเอง โดยไม่ไปผ่านการเจริญเป็นซีสติเซอร์คัสในหมู ในกรณีนี้ผู้ป่วยจะทำหน้าที่เหมือนโฮสต์ตัวกลาง (Intermediate host) แทนหมูนั่นเอง การติดต่อวิธีนี้เกิดจากไดัรับไข่พยาธิจากอุจจระเข้าสู่ปากโดยตรง (Fecal-oral route) หรือติดเชื้อซ้ำโดยตนเอง (Autoinfection) การวินิจฉัยโรคที่มีตัวเต็มวัยของพยาธิตืดหมูในลำไส้ ประวัติอาการ (เช่น ปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืด ภาวะซีด) ประวัติถิ่นที่อยู่อาศัย ประเภทอาหารที่บริโภค อาชีพ การงาน และการตรวจร่างกาย การตรวจอุจจาระพบไข่พยาธิตืดหมู เป็นวิธีที่ทำง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด พบปล้องสุก (Gravid proglottid) ที่หลุดออกมาปนกับอุจจาระ ที่สามารถนำไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพราะจะมีลักษณะอวัยวะภายในพยาธิที่ทำให้สามารถแยกชนิดของพยาธิตัวตืดได้ แต่มักจะพบหลังจากการได้รับไข่พยาธิไปแล้ว 3 เดือน ถ้ามีหัวของพยาธิ (Scolex) หลุดออกมาในอุจจาระด้วย จะทำให้ทราบชนิดของพยาธิตัวตืดได้แน่นอน เพราะรูปร่างลักษณะของหัวจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน การตรวจทางอิมมูโนวิทยา (Immunology ) เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อ หรือการหาแอนติเจนของเชิ้อ) เช่น ด้วยวิธีที่เรียกว่า ELISA (The Enzyme-linked immunosorbent assay) หรือด้วยวิธีการอื่นๆที่เหมาะสม การตรวจทางเทคนิคพันธุศาสตร์ เช่น การเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่พีซีอาร์ (Polymerase chain reaction) ที่มาภาพ http://bioweb.uwlax.edu/bio203/s2008/geske_rich/nutrition.htm การวินิจฉัยโรคที่มีระยะเม็ดสาคูในเนื้อเยื่อของร่างกาย ตรวจพบตุ่มใต้ผิวหนัง เมื่อตัดออกไปตรวจจะพบถุงน้ำและพยาธิตัวอ่อน จากประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ประวัติอาการของผู้ป่วย เช่น อาการชัก ปวดศีรษะเรื้อ รังโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น ตรวจภาพสมองหรือภาพกล้ามเนื้อด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอ จะพบ พยาธิเม็ดสาคู โดยพบถุงน้ำและตัวอ่อนอยู่ภายในลักษณะเป็นเงาสีขาวเป็นวงแหวนเนื่องจากมีแคลเซียมไปเกาะหรือการตรวจภาพรังสีของกล้ามเนื้อและกะโหลกจะพบหินปูนเป็นจุดๆ การตัดชิ้นเนื้อจากใต้ผิวหนังหรือสมอง เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา การรักษา ในคนที่มีซีสต์พยาธิตัวตืดในอวัยวะต่างๆ อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ถ้าไม่มีอาการ แต่ถ้าเป็นที่สมองและมีอาการ เช่น ชัก ปวดศีรษะมาก อาจต้องให้ ยารักษา หรือผ่าตัดตามความเหมาะสมยาที่ใช้รักษาคือยา พราซิควอนเทล (Praziquantel) โดยให้ในขนาด 50 มก./กก/วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือให้ยา อัลเบลดาโซล (Albendazole) ในขนาด 15 มก./กก/วัน แบ่งให้วันละ 2-3 ครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือการผ่าตัดเอาซีสต์ออกจากกล้ามเนื้อหรือจากสมองหรือจากไขสันหลัง ถ้าเป็นโรคพยาธิในลำไส้ ใช้ยานิโคลซาไมด์ (Niclosamide) ขนาด 0.5 กรัม ขนาดที่ใช้คือให้ 4 เม็ดเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน และให้ยาระบายร่วมด้วย ยาระบายจะให้หลังจากให้ยาฆ่าพยาธิแล้ว หรืออาจใช้ยาอัลเบลดาโซล หรือพราซิควอนเทล ก็ได้ การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคพยาธิตืดหมู รับประทานยากำจัดพยาธิตามที่แพทย์สั่งจนครบ รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การไม่รับประทานเนื้อหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ ล้างผักสดให้สะอาดอย่างดีก่อนรับประทาน ล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร ไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อการตรวจวินิจฉัยว่าโรคหายแล้ว และไม่มีการติดเชื้อซ้ำ การป้องกันการติดโรคพยาธิตืดหมู และการควบคุมโรค ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเสมอ อย่าถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลอง อย่าถ่ายอุจจาระลงพื้นดิน เพราะเป็นการทำให้ไข่อยู่ในดินและหมูมากินเข้าไปได้ ให้ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะเสมอ ไม่กินเนื้อหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบดิบ ลู่ แหนมสด เวลาซื้อเนื้อหมูต้องคอยสังเกตดูให้ดี ถ้าพบลักษณะมีตุ่มขาวเหมือนเม็ดสาคูเม็ดใหญ่ในเนื้อหมู ไม่ควรนำมารับประทาน ล้างมือให้สะอาดโดยฟอกสบู่หลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติดมือไปแพร่ให้ตนเองและผู้อื่นทางการปนเปื้อนอาหารได้ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ใช้ช้อนตักอาหารเข้าปาก หลีกเลี่ยงการใช้มือจับอาหารเข้าปาก ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานเสมอ เพราะในผักผลไม้สดอาจมีไข่พยาธิตัว ตืดปะปนมาได้ และไม่ใช้อุจจาระคนเป็นปุ๋ยรดต้นผัก สำหรับผู้ทำอาหารหรือเตรียมอาหาร ต้องล้างมือ ฟอกสบู่ ก่อนทำอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันไข่พยาธิปะปนลงไปในอาหาร ถ้าเดินทางไปประเทศที่การสาธารณสุขยังไม่ดี ต้องระมัดระวังเรื่องการดื่มน้ำและอาหารเป็นพิเศษ เลี้ยงหมูในคอกที่ถูกสุขลักษณะ อย่าปล่อยให้หมูหาอาหารกินเอง เพราะอาจได้รับไข่พยาธิในดินได้ และอาหารที่เลี้ยงหมูต้องระวังอย่าให้ปนเปื้อนอุจจาระของคน เรียบเรียงจาก วิฑูรย์ ไวยนันท์ และ พีรพรรณ ตันอารีย์. (2546). ปรสิตวิทยาทางการแพทย์. กรุงเทพ : ศักดิโสภาการพิมพ์. โรคพยาธิตืดหมู. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : ลิงค์ พนัส เฉลิมแสนยากร. พยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) โรคติดเชื้อพยาธิตืดหมู (Cysticercosis). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://goo.gl/e3esZr พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ และ นิธิยา รัตนาปนนท์. Taenia solium / พยาธิตืดหมู. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://goo.gl/T70uG9 นิภา จรูญเวสม์. โรคพยาธิตืด. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://goo.gl/Bsmjpo โรคพยาธิตืดหมู. [ออนไลน์]. 2551. แหล่งที่มา : http://www.school.net.th/schoolnet/article/read.php?article_id=90 เอื้อมพร รัตนชาญพิชัย. ตัวตืดหมู และ ตัวตืดวัว. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : ลิงค์ พยาธิตัวตืด ภัยมืดในร่างกายคุณ. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.tm.mahidol.ac.th/th/tropical-medicine-knowledge/new/Cestoda.html โดย: ศ.ดร.พีรพรรณ ตันอารีย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล Link: http://www.sc.mahidol.ac.th/usr/?p=444
24
SEP
2561
โรงพยาบาลมิตรภาพสามัคคี และบริการต่างๆ
โรงพยาบาลมิตรภาพสามัคคี โรงพยาบาลมูลนิธิ ในมิติใหม่ ประกอบไปด้วยคลินิกต่างๆ พร้อมให้บริการท่าน ให้คนหาดใหญ่ ได้มีทางเลือก รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่: 074-352-900-3 แผนกทันตกรรม: 074-352-904 ห้องคลอด: 074-244-155 แฟ็กซ์: 074-243-549 เว็บไซต์: www.mittraparphosp.com facebook: โรงพยาบาลมิตรภาพสามัคคี-มูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง
18
SEP
2561
CPR รู้ไว้ คนที่คุณต้องช่วยอาจเป็นคนใกล้ตัว
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเฉียบพลัน (sudden cardiac arrest) ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญ ในหลายภูมิภาคทั่วโลก การช่วยชีวิตผู้ป่วยขั้นพื้นฐาน(BLS) เป็นขั้นตอนสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยดังกล่าว บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งบุคคลทั่วไป ควรมีความรู้ ความเข้าใจ ถึงขั้นตอน วิธีการปฏิบัติ รวมถึงการตรวจประเมินผู้ป่วย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง American Heart Association (AHA) ซึ่งได้เปลี่ยนแนวทางการช่วยชีวิตใหม่ในปีค.ศ. 2010 จากที่เคยทำไว้เมื่อปี 2005 โดยขั้นตอนในการช่วยเหลือที่เสนอแนะโดยมี 5 ขั้นตอนดังนี้ วินิจฉัยภาวะหัวใจหยุดเต้นให้เร็ว และตามทีมช่วยชีวิตให้ได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เริ่มทำการช่วยชีวิตโดยการนวดหัวใจ (chest compression) ทำการช็อคไฟฟ้า (defibrillation)ตามข้อบ่งชี้อย่างรวดเร็ว ทำการช่วยชีวิตขั้นสูงอย่างมีประสิทธิภาพ การให้การดูแลรักษาผู้ป่วยหลังจากหัวใจหยุดเต้นอย่างเหมาะสม การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (BLS) ครอบคลุมขั้นตอน 1-3 การปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ในการช่วยผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาลและคลื่นหัวใจเป็นแบบ Ventricular fibrillation จะเพิ่มอัตรารอดขึ้นมาเกือบ 50% การกดหน้าอก (chest compression) เป็นขั้นตอนสำคัญของ BLS ผู้ป่วยcardiac arrest ทุกรายต้องได้รับการกดหน้าอก ที่ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ การกดในลักษณะที่จะทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดโดยการเพิ่มความดันในช่องอก และการกดลงบริเวณหัวใจโดยตรง มีดังนี้ ออกแรงกดเป็นจังหวะบริเวณบริเวณครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก (lower half of the sternum) ต้องกดแรงและเร็ว (push hard and push fast) อัตราการกดต้องไม่น้อยกว่า 100 ครั้งต่อนาที กดให้ลึกอย่างน้อย 2นิ้ว หรือ 5 เซนติเมตร ต้องผ่อนแรงหลังการกด ให้ทรวงอกคลายตัวได้อย่างเต็มที่เพื่อรอรับการกดในครั้งต่อไป ต้องระวังต้องไม่ให้มีการหยุดกดหน้าอกบ่อยๆ หรือหยุดกดเป็นเวลานานๆ อัตราส่วนของการกดต่อการช่วยหายใจคือ 30 : 2 การช่วยชีวิตผู้ป่วยในเวลาที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ นั้นสามารถเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยและการช่วยชีวิตพื้นฐานนั้นก็ต้องทำต่อเนื่องจนกระทั่งทีมช่วยเหลือขั้นสูงมาถึง และเรามี vdo เล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้ท่านเข้าใจในการทำ cpr มากขึ้นค่ะ vdo การทำ cpr แบบสั้นๆ เข้าใจง่าย จบภายใน 2 นาที การใช้เครื่อง AED (กรณีที่มี จะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้นเกือบ 50%) vdo เหตุการณ์ช่วยเด็กจมน้ำที่หัวใจหยุดเต้นไปแล้ว แต่สามารถฟื้นกลับมารู้สึกตัวได้ด้วยการปั๊มหัวใจ แหล่งข้อมูล: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล clip VDO จาก Youtube Channel: อัพเดตข่าวข้น Chulalongkorn University, Center of University Risk Management We Mahidol
14
SEP
2561
กรดไหลย้อน ภัยเงียบวัยทำงาน กันไว้ดีกว่าแก้
สภาพสังคมในปัจจุบัน นอกจากจะต้องเผชิญกับความเครียดแล้ว ยังต้องทำกิจวัตรต่าง ๆ อย่างรีบเร่ง ซึงรวมถึงการรับประทานอาหาร หลายท่านอาจมองว่าไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่ทราบหรือไม่ ยังมีภัยซ่อนเร้นที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างสูงหลายโรค และหนึ่งในนั้นก็คือ “โรคกรดไหลย้อน” โรคกรดไหลย้อน (Gestroesophangeal Reflux Disease : GERD) เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้ (โรงพยาบาลมิตรภาพสามัคคี จะเปิดให้บริการคลินิกโรคทางเดินอาหารตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2561 เป็นต้นไป เวลาเปิดบริการ เสาร์ 09.00 - 12.00 น. และอาทิตย์ 17.00 - 20.00 น. รักษาโรคปวดท้อง, กรดไหลย้อน, ท้องเสีย, ท้องผูก, ลำไส้แปรปรวน, ส่องกล้องทางเดินอาหาร, ตับอักเสบ, ตับแข็ง, ไขมันเกาะตับ) สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน เช่น - หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวโดยที่ยังไม่มีการกลืนอาหาร ซึ่งสาเหตุนี้ถือเป็นภาระสำคัญของโรคนี้ - ความดันจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าในคนปกติ หรือเกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารมากขึ้น - เกิดจากความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร - อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ไม่ใช่แค่วัยทำงาน....ก็มีความเสี่ยงกับโรคนี้ โรคนี้พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ กำลังตั้งครรภ์ เป็นโรคผิวหนังแข็ง (scleroderma) โรคเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาแก้โรคซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุที่เสริมปัจจัยสี่ยงได้เช่นกัน ส่วนใน”เด็ก” สามารถพบได้ตั้งแต่วัยทารกจนถึงเด็กโต ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังจากดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน อาการสำคัญ คือ แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ ซึ่งจะเป็นมากขึ้นภายหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย นอกจากนี้ ยังมีอาการเรอเปรี้ยว นั่นเพราะมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก โดยคนไข้อาจมีทั้ง 2 อาการหรืออาการใดอาการหนึ่งก็ได้ จะวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างไร โดยปกติ แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ ได้จากอาการดังที่กล่าวมา โดยผู้ป่วยที่มีอาการทั้งแสบยอดอก และ/หรือ เรอเปรี้ยว (ทั้งนี้ไม่ควรมีอาการที่บ่งบอกว่าน่าจะเป็นโรคอื่น อาทิ น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด หรือมีไข้) แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยได้เลยว่าผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนและให้การรักษาเบื้องต้นได้ โดยจะติดตามดูอาการของผู้ป่วย ในบางรายอาจมี ความจำเป็นต้องได้รับการตรวจค้นพิเศษเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การกลืนแป้ง การตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร และการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร ซึ่งพบว่าได้ผลแม่นยำและดีที่สุดในปัจจุบัน เมื่อรักษาแล้วจะหายขาดหรือมีโอกาสกลับมาเป็นอีกหรือไม่ โดยทั่วไป หลังกินยาลดการหลั่งกรดเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งจะมีโอกาสกลับมีอาการซ้ำอีก ดังนั้นการรักษาในกลุ่มนี้แพทย์ก็จะให้ยาในกลุ่มเดิม โดยอาจจะให้ยาเป็นระยะ ๆ 6-8 สัปดาห์อีก หรือให้ยาตามอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ในรายที่เป็นเรื้อรังแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาการรักษาด้วยการส่องกล้อง หรือการผ่าตัด * สำหรับยาในกลุ่มที่มีผลต่อการลดจำนวนการคลายตัวของหูรูดนั้น ยังมีอยู่จำนวนไม่มาก และผลของการรักษายังสู้ยาลดกรดไม่ได้ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงอยู่พอสมควร จะปฏิบัติตัวอย่างไรถ้าเป็นโรคนี้ โดยทั่วไปเป้าหมายของการรักษา แพทย์จะมุ่งเน้นให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น รักษาอาการอักเสบของแผลในหลอดอาหารและป้องกันผลแทรกซ้อน การรักษาประกอบไปด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การให้ยา การส่องกล้อง รักษาและการผ่าตัดโดยวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถทำได้ดังต่อไปนี้ - หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา - หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต - ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป - ระวังอาหารมื้อเย็น ไม่รับประทานในปริมาณมากและไม่ควรนอนทันที เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วอย่างน้อย 3 ชั่วโมง - ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง - ไม่ใส่เสื้อรัดรูปเกินไป - ออกกำลังกายสม่ำเสมอ - นอนตะแคงซ้ายและนอนหนุนหัวเตียงให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว จะเห็นได้ว่าโรคกรดไหลย้อน นับเป็นปัญหาของโรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยขึ้นในปัจจุบัน แม้ว่าความรุนแรงของโรคนี้จะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็จะมีผลกระทบทั้งทางกายและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในเรื่องของการทำงาน งานอดิเรก การใช้ชีวิตประจำวัน การปฏิบัติตัว เพื่อหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากโรคนี้ เช่น การประพฤติปฏิบัติ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ก็จะสามารถทำให้ห่างไกลจากภาวะโรคนี้ และให้ห่างไกลจากภาวะโรคนี้ และหากคุณมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็ควรรีบไปรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป ที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยเสริมอื่น ๆ ก็จะทำให้ห่างไกลจากภาวะโรคกรดไหลย้อนได้ครับ. บทความโดย: รศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
6
SEP
2561
เคล็ดลับการซื้อยาให้ปลอดภัย โดยเภสัชกร
สมัยนี้คนเราเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยทางด้านกายภาพ ด้านจิตใจ และด้านทรัพย์สิน เราจึงต้องระมัดระวังในเรื่องต่างๆ แทบทุกเรื่อง ด้านทรัพย์สินนั้นเราสร้างความปลอดภัยโดยการอยู่ในถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัย มีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ดี ส่วนด้านจิตใจเราประคับประคองใจด้วยการปฏิบัติธรรมตามคติความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ด้าน และสำหรับด้านร่างกาย เรามีการใส่ใจดูแลสุขภาพที่ดีโดยการหาอาหารเสริมต่างๆ มาบำรุงร่างกาย มีการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆหลากหลาย บทความนี้จะนำเสนอเคล็ดลับในการเข้าร้านยาให้ปลอดภัย ท่านอาจจะสงสัยว่า “การเข้าร้านยามีอะไรไม่ปลอดภัย” แน่นอนถ้าเข้าร้านยาที่ไม่มีเภสัชกรประจำอาจจะมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยมากกว่า ถึงแม้ว่าเข้าร้านยาที่มีเภสัชกรประจำก็อาจจะมีความไม่ปลอดภัยได้บ้าง ดังนั้นท่านจึงควรทราบเคล็ดลับความปลอดภัยในการเข้าร้านยา โดยใช้หลักการ “ถามหาเภสัชกรและซื้อยาที่ถูก 5 ประการ” เคล็ดลับนี้เป็นสิ่งที่ง่าย และปฏิบัติได้เองเพื่อคุณ และคนที่คุณรัก เมื่อเข้ารับบริการที่ร้านยา ท่านต้องได้รับการสอบถามและได้รับคำแนะนำในประเด็นเหล่านี้ ถูกคน ท่านต้องได้รับการซักถามว่า ยาที่ซื้อนั้น “ท่านใช้เอง หรือซื้อให้คนอื่น” ดังนั้นถ้าท่านจะซื้อยาให้คนอื่นใช้ หรือ คนอื่นฝากมาซื้อยา ท่านควรต้องสอบถามอาการคนที่ฝากท่านซื้อยาให้ละเอียดว่ามีอาการอะไรบ้าง และถ้าท่านจะใช้ยาเองท่านต้องบอกเล่าอาการที่ท่านเจ็บป่วยให้เภสัชกรฟังอย่างละเอียด และอย่ารำคาญเมื่อเภสัชกรซักถามท่านหลายคำถาม นั่นแสดงให้เห็นว่าเขากำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องและเหมาะสม ถูกโรค เภสัชกรต้องสอบถามท่านเกี่ยวกับอาการที่ไม่สบายอย่างละเอียด เรียกว่าสัมภาษณ์ตั้งแต่หัวจรดเท้า (ถ้าท่านเป็นหลายโรคตั้งแต่หัวจรดเท้า) นอกจากนี้ท่านต้องได้รับการสอบถามเกี่ยวกับโรคที่ท่านเป็นอยู่ก่อน หรือโรคเรื้อรังที่ท่านต้องใช้ยาเป็นประจำเช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน หรือ โรคหัวใจ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาที่เภสัชกรจะสั่งจ่ายให้ท่านกับยาที่ท่านใช้อยู่เป็นประจำ และเภสัชกรต้องสอบถามท่านว่า “เคยแพ้ยาอะไรบ้างหรือไม่” เพื่อป้องกันอันตรายจากการแพ้ยา เพราะยาบางขนิดอาการแพ้จะมากขึ้นมื่อใช้ยานั้นซ้ำ บางชนิดเป็นอันตรายถึงชีวิต ถูกขนาด ในขั้นตอนนี้เภสัชกรต้องแนะนำ ชื่อยาที่ท่านได้รับ และขนาดยาที่ท่านได้รับ หรือถ้าท่านต้องการซื้อยาที่ซื้อใช้เป็นประจำควรต้องแจ้งเภสัชกรเกี่ยวกับขนาดยาที่ท่านใช้อยู่เพื่อความถูกต้องเหมาะสมของยาที่ใช้ ถูกวิธี ท่านต้องได้รับการชี้แจงเกี่ยวกับช่องทางที่ท่านจะรับยานั้นเข้าร่างกายว่า ยาที่ท่านได้รับเป็น ยากิน ยาอม ยาดม ยาทา ยาพ่น หรือ ยาเหน็บ เพราะการให้ยาถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด แต่ผิดวิธีใช้ ท่านจะไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้ยาแต่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยานั้นแทน ถูกเวลา เภสัชกรต้องแจ้งท่านว่าจะใช้ยานั้นเวลาไหน ก่อนหรือหลังอาหาร ก่อนนอน หรือ ใช้เวลาปวด เพราะเวลาที่ใช้ยาต่างกันอาจได้ผลจากยาไม่เท่ากัน ดังนั้นควรใช้ยาตามเวลาที่เภสัชกรแนะนำเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ยาที่รับประทานก่อนอาหาร ควรรับประทานในช่วงที่ท้องว่าง ยังไม่ได้รับประทานอาหาร ซึ่งก็คือก่อนรับประทานอาหารอย่างน้อย ๓๐ นาที ยาหลังอาหาร ควรรับประทานหลังอาหารทันที อาจรับประทานพร้อมอาหารหรือก่อนรับประทานอาหารคำแรกก็ได้ เพราะไม่ว่าจะกรณีใด ยาจะเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหารพร้อมกับอาหารที่รับประทานเหมือนๆ กัน ยาที่ควรรับประทานหลังอาหารเพื่อ หลีกเลี่ยงอันตรายจากอาการข้างเคียงของยา เช่นยาแก้ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ไม่ควรรับประทานขณะท้องว่างเพราะจะเกิดอาการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ที่สำคัญซองยาที่ท่านได้รับจะต้องระบุรายอะไรเกี่ยวกับตัวยา วิธีใช้ ขนาดที่ใช้ จำนวนที่ใช้ เวลาที่ใช้ และข้อควรระวังอย่างละเอียด และที่สำคัญคือต้องมีชื่อของคนที่จะใช้ยานั้นระบุไว้อย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้ยาผิดคน ข้อคิดสำคัญเมื่อมียาเหลือหลังจากที่อาการทุเลาแล้ว ไม่ควรนำยาที่ท่านใข้เหลือไปให้คนอื่นใช้ เพราะยาที่ท่านใช้ได้ผลดีอาจจะเป็นโทษต่อคนที่มีอาการคล้ายๆ กันก็ได้ และที่สำคัญยานั้นอาจจะเสื่อมสภาพเนื่องจากการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการให้คนอื่นใช้ยาที่ท่านใช้เหลือจะเป็นความหวังดีที่จะกลายเป็นบาปโดยไม่ตั้งใจก็ได้ ดังนั้นอย่าลืมจะเข้าร้านยาทุกครั้ง ต้องจดจำไว้ว่า “ ถามหาเภสัชกรและซื้อยาที่ถูก 5 ประการ” เอกสารอ้างอิง http://www.prema.or.th/patient.php?CId=1&Id=27&menu= (สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2556) https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=83 (สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2556) บทความโดย: อาจารย์ ดร.ภก.ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
21
AUG
2561
ทำความเข้าใจกับไขมันทรานส์ ทำไมสาธารณสุขถึงต้องห้ามจำหน่าย
ไขมัน เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เพื่อใช้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยน้ำมัน 1 ช้อนชา ให้ไขมัน 5 กรัม พลังงาน 45 กิโลแคลอรี นอกจากพลังงานแล้วไขมันยังให้ประโยชน์แก่ร่างกาย คือ ดูดซึมและสะสมวิตามินที่ละลายในไขมัน ช่วยให้เซลล์ต่างๆ ของร่างกายเจริญเติบโต ทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น/อาหารนุ่มลิ้นขึ้น ประเภทของไขมัน 1. ไขมันหรือน้ำมันจากสัตว์ ได้แก่ : น้ำมันหมู น้ำมันไก่ น้ำมันจากวัว ครีม นมสด เนย ไข่แดง เบคอน และหนังสัตว์ /มันสัตว์ มีคอเลสเตอรอลและกรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่จำเป็นต่อร่างกาย ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง อาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบ 2. ไขมันหรือน้ำมันจากพืช แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ 2.1 ชนิดที่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ได้แก่ : น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันคาโนล่า น้ำมันรำข้าว งา ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เพิ่มระดับไขมันตัวดี (เอชดีแอล—คอเลสเตอรอล) ลดระดับไขมันตัวร้าย (แอลดีแอล—คอเลสเตอรอล) และลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลกลูโคสไปใช้ได้ดีขึ้น และช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินในผู้เป็นเบาหวาน 2.2 ชนิดที่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ได้แก่ : น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด และน้ำสลัดต่างๆ ลดระดับไขมันตัวร้าย (แอลดีแอล—คอเลสเตอรอล) ถ้ากินในปริมาณที่มากเกินไปจะลดระดับไขมันตัวดี (เอชดีแอล—คอเลสเตอรอล) 2.3 ชนิดที่ให้กรดไขมันอิ่มตัว ได้แก่ : น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และกะทิ ให้กรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งไม่ควรบริโภคมากเกินไป เพราะทำให้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง *รู้หรือไม่ ??? ไขมันตัวดี (เอชดีแอล—คอเลสเตอรอล) เพิ่มขึ้นได้จากการออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ไขมันทรานส์ ไขมันทรานส์ (Trans Fat) หรือกรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty acid) เป็นกรดไขมันที่มีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งเกิดจากทั้งสาเหตุธรรมชาติและจากกระบวนการอุตสาหกรรมที่มีการเติมไฮโดรเจนลงในน้ำมันพืช เรียกว่า “กระบวนการไฮโดรจิเนชั่น” อันตรายจากไขมันทรานส์ : ทำให้เพิ่มระดับไขมันตัวร้ายและลดระดับไขมันตัวดี และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แหล่งอาหารที่มีไขมันทรานส์ อาหารที่พบว่ามีไขมันทรานส์อยู่จำนวนมาก คือ ขนมอบหรือเบเกอรีที่มีมาการีนและเนยขาวเป็นส่วนประกอบ เช่น คุกกี้ แครกเกอร์ ขนมปัง และขนมขบเคี้ยว เป็นต้น และยังพบในครีมเทียม อาหารอบ อาหารทอด และอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ไขมันทรานส์บางชนิดพบในผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ เช่น เนย นมสด และเนื้อวัว เป็นต้น แต่พบในปริมาณเล็กน้อย ข้อแนะนำในการบริโภคไขมัน ลดการกินไขมันจากสัตว์ทุกชนิด เลือกกินเนื้อสัตว์ที่ไม่มีมันและหนัง เนื้อปลา และนมพร่องหรือขาดมันเนย เลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวในการทำอาหารเป็นประจำ เช่น น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าว เลือกเมนูประเภทต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง และอบ เป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารผัดและทอด ลดหรือหลีกเลี่ยงอาหารจานเดียวที่มีไขมันสูง เช่น หอยทอด ผัดไทย และข้าวขาหมู เป็นต้น ลดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีมาการีนและเนยขาวเป็นส่วนประกอบ (มีกรดไขมันทรานส์) อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ทราบได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีไขมันทรานส์ อ่านฉลากโภชนาการ ว่ามีไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์นี้หรือไม่ อ่านส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ หากมีส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial hydrogenation) หรือ น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจน (Hydrogenated oil) ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นอาจมีไขมันทรานส์ได้ ถึงแม้ว่าบนฉลากโภชนาการจะระบุว่า Trans fat 0.0 g เนื่องจากตามกฎหมายหากมีไขมันทรานส์ น้อยกว่า 0.5 g ให้ระบุบนฉลากได้ว่าเป็น Trans fat 0.0 g หากผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากโภชนาการหรือฉลากอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น คุกกี้ โดนัท เค้ก พาย อาหารจานด่วน เช่น เฟรนช์ฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์ ขนมกรุบกรอบทั้งหลายก็ให้รับประทานแต่น้อย และไม่บ่อยครั้ง บทความโดย: น.ส.ศรีวรรณ ทองแพง ศูนย์เบาหวานศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์: http://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=1281 http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/727/Trans-Fat
«
1
2
3
»