เลือกภาษา    
ติดต่อสอบถาม 074-801900
233 ซอย 8 ถนนแสงศรี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
เวลาเปิดบริการ
เปิดบริการทุกวัน 24 ชั่วโมง

พยาธิตืดหมู … อันตรายที่มากับ “หมู″ กินกึ่งสุกกึ่งดิบ ต้องระวัง

โรคพยาธิตืดหมูขึ้นสมองเกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคพยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) เกิดจากพยาธิตืดหมูชื่อที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Taenia solium เป็นพยาธิตัวแบนซึ่งเป็นกระเทย (Hermaphrodite) เนื่องจากมีอวัยวะเพศผู้และเพศเมียอยู่ในปล้องเดียวกัน ตัวเต็มวัยมีลักษณะเป็นปล้องแบน (Proglottid) ต่อเป็นสายยาวเป็นเมตร  เหตุที่ชื่อว่าพยาธิตืดหมูเนื่องจากมีหมูเป็นเป็นโฮสต์ตัวกลาง พยาธิตืดหมูทำให้เกิดโรคในคนได้ 2 ชนิด คือ โรคพยาธิตืดหมูอาศัยอยู่ในลำไส้ ที่เรียกว่าโรค ทีนิเอซีส (Taeniasis) ซึ่งในกรณีนี้คนทำหน้าที่เป็นโฮสต์สุดท้ายหรือโฮสต์จำเพาะ (Final host หรือ definitive host) และ โรคที่มีพยาธิตัวอ่อนในถุงน้ำ หรือที่เรียกว่า ซีสต์เม็ดสาคู เข้าไปฝังตัวในเนื้อเยื่อของคน เรียกว่าโรคซีสติเซอร์โคซิส (Cysticercosis) ในกรณีนี้คนทำหน้าที่เป็นเป็นโฮสต์ตัวกลาง (Intermediate host ) แทนที่หมู โรคดังกล่าวพบได้ทั่วโลก โดยพบได้บ่อยในประเทศด้อยพัฒนาและในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงทุกแหล่งที่มีการสาธารณสุขที่ไม่ดี ทั้งนี้ ทั่วโลกพบการติดเชื้อโรคนี้ได้ประมาณ 50-100 ล้านคน การติดเชื้อนี้พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและในผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกัน พบมากในผู้ที่ชอบรับประทานหมูสุกๆดิบๆ หรือรับประทานผักสดที่ล้างไม่สะอาด ในประเทศไทยพบมากแถบภาคอิสานเนื่องจากรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ลู่ น้ำตก หมู แหนม ผักสด ผลไม้สด เป็นต้น

วงชีวิตของพยาธิตืดหมู

  1. โรคซีสติเซอร์โคซิส (Cysticercosis) สามารถเกิดได้ทั้งคนและหมูโดยตัวอ่อนจะฝังตัวตามอวัยวะต่างๆคนจะได้รับเชื้อนี้โดยการรับประทานไข่พยาธิ ขนาด 31-45 ไมโครเมตร (มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) ที่ออกมากับอุจจาระและปนเปื้อนอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด
  2. หมูและคนเมื่อได้รับไข่พยาธิจะทำให้เกิดการติดเชื้อ
  3. นอกจากจะได้รับเชื้อจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ คนยังได้รับไข่พยาธิจากตัวเต็มวัยที่อยู่ในลำไส้ โดยคนที่มีอาการอาเจียนซึ่งจะขย้อนตัวเต็มวัยเข้าในกระเพาะ ทำให้มีไข่ออกจากปล้องสุกของตัวเต็มวัย จากนั้นเปลือกไข่จะถูกย่อยในทางเดินอาหารทำให้ตัวอ่อน (Oncospheres) ออกจากไข่ และไปเกาะที่ผนังลำไส้
  4. จากนั้นตัวอ่อนจะไชทะลุผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปยังกล้ามเนื้อ สมอง ตับ และเนื้อเยื่ออื่นๆ เจริญเป็นตัวอ่อนในถุงน้ำเรียกว่า ซีสติเซอร์คัส (Cysticercus) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์ประมาณ 0.5-1.5 ซม. ซึ่งอาจก่อให้เกิดพยาธิสภาพที่รุนแรงได้ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่ เรียกว่า ซีสติเซอร์โคซีส
  5. แต่ถ้าคนกินซีสต์เม็ดสาคูในเนื้อหมู ตัวอ่อน (Cysticercus) จะออกจากถุงซีสต์ และเกาะกับผนังลำไส้โดยใช้อวัยวะส่วนหัว (Scolex ) ขนาดประมาณ 1 มม. ที่มีตะขอ (Hook) บนโรสเทลลัม (Rostellum) และอวัยวะเกาะดูด (Sucker) อีก 4 อัน จากนั้นเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย โดยพยาธิจะงอกเป็นปล้องๆ ต่อจากส่วนคอ (Neck) ออกไปเรื่อยๆ จนเป็นตัวเต็มวัย และปล่อยปล้องสุก (Gravid proglottid) หลุดออกมากับอุจจาระ วงชีวิตดังกล่าวกินเวลาประมาณ 2-3 เดือน
  6. พยาธิตืดตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคน ซึ่งมีความยาวประมาณ 2 ถึง 7 เมตร และมีปล้องประมาณ 1,000-3,000 ปล้อง แต่ละปล้องสุกซึ่งอยู่ส่วนปลายจะมีไข่ประมาณ 30,000- 50,000 ฟอง พยาธิตืดตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้เล็กได้หลายปี ปล้องสุกมีลักษณะสี่เหลี่ยมแบน มองเห็นด้วยตาเปล่า ขนาดประมาณ 1×1.5 ซม. (ซึ่งมีไข่มี่มีตัวอ่อนอยู่ภายใน อัดอยู่เต็มแขนงมดลูก) ซึ่งอยู่ส่วนปลายจะหลุดออกจากตัวเต็มวัย ปล้องสุกนี้เคลื่อนที่ได้ จึงอาจคืบคลานออกมาทางรูทวารได้เอง บางครั้งผู้ปวยจะนำปล้องสุกมาให้แพทย์ดูด้วย ปล้องสุกอาจจะแตกก่อนที่บริเวณลำไส้ใหญ่ และปล่อยไข่ปะปนออกมากับอุจจาระของคนและกระจายอยู่ในธรรมชาติ รอเวลาเข้าสู่คนหรือหมูต่อไป

pork1
วงชีวิตของพยาธิตืดหมู

อาการแสดงออกของโรค

โรคพยาธิตืดหมูในลำไส้ (Taeniasis ) 
พยาธิตัวเต็มวัยในลำไส้จะแย่งอาหารทำให้ผู้ที่มีพยาธินี้จะรับประทานอาหารเก่ง หิวบ่อยแต่ผอมลง น้ำหนักลด นอกจากนั้นอาจจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน หรืออุจจาระบ่อย เนื่องจากเกิดจากการระคายเคืองต่อลำไส้

โรคที่มีซีสต์ของพยาธิตืดหมูที่เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย (Cysticercosis )
ถ้าคนรับประทานไข่พยาธิตืดหมูที่ติดตามผัก ผลไม้ หรืออาเจียนขย้อนปล้องสุกของพยาธินี้มาที่กระเพาะคน คนก็จะทำหน้าที่เป็นโฮสต์ตัวกลางเหมือนหมู พยาธินี้จะเจริญเหมือนในหมู พยาธิตัวอ่อนจะฟักจากไข่แล้วไชทะลุลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดหรือน้ำเหลืองไปยังกล้ามเนื้อหรืออวัยวะต่างๆ เช่นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ สมอง ไขสันหลัง ตา หัวใจ ตับ ปอด โดยเจริญไปเป็นระยะถุงซีสต์ เรียกว่า ซีสติเซอร์คัส (Cysticercus) ซึ่งเป็นตัวอ่อนที่มีส่วนหัว (Scolex) และส่วนคอ (Neck) อยู่ตรงกลางในถุงน้ำเล็กๆ  ทำให้มีรูปร่างเหมือนเม็ดสาคูเม็ดใหญ่ จึงเรียกว่า พยาธิเม็ดสาคูในเนื้อหมู หรือ ซีสต์เม็ดสาคูในเนื้อหมู อาการและอาการแสดงออกต่างๆจะขึ้นกับตำแหน่งของซีสต์ ถ้าอยู่ใต้ผิวหนังก็จะมีก้อนใต้ผิวหนัง ถ้าอยู่ที่ตาก็จะปวดตา ตาพร่ามัว สายตาผิดปกติหรือตาบอด เรียกโรคนี้ว่า โรคซีสติเซอร์โคซีส (Cysticercosis) แต่ถ้าซิสต์นี้เกิดขึ้นในเนื้อสมอง ซึ่งอาจจะไม่มีอาการหรืออาจมีอาการ เช่น ทำให้เกิดอาการชัก มือและเท้าชา เป็นลม วิงเวียน หรืออาจจะมีอาการปวดศีรษะเนื่องจาก ซีสต์ไปอุดทางเดินน้ำไขสันหลังทำให้ความดันในสมองสูง ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด เรียกว่า โรคนิวโรซีสติเซอร์โคซีส (Neurocysticercosis) ถ้าผู้ป่วยเป็นมากอาจเสียชีวิตได้

สำหรับพยาธิสภาพโรคนิวโรซีสติเซอร์โคซีสนั้น  ส่วนใหญ่พยาธิตัวตืดที่เข้าไปในสมองในช่วงแรกจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบในสมอง เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง กลไกของร่างกายพยายามจะทำให้พยาธิตายลง พอตายก็จะเกิดมีหินปูนมาเกาะอยู่ การที่เกิดแคลเซี่ยมนั่นแสดงว่าตัวพยาธิได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งเกิดขึ้นเป็นหินปูนที่คล้ายๆ แผลเป็นในสมอง แผลเป็นตัวนี้จะเป็นปัญหาระยะยาว เนื่องจากว่าจะทำให้ไฟฟ้าในสมองส่วนตำแหน่งนั้นผิดปกติ ทำให้เกิดอาการวูบหรืออาการชักตามมาได้ โดยทั่วไปมักจะบอกไม่ได้ว่าแคลเซี่ยมตัวนี้เกิดเมื่อไหร่ แต่คงเกิดมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนใหญ่คนที่มีหินปูนแล้วมักไม่ทราบว่าตัวเองมีโรค ในกรณีที่อดนอนหรือทำงานเหนื่อย อาจเกิดอาการวูบขึ้นมา ซึ่งเมื่อมาพบแพทย์ก็จะตรวจพบว่ามีตัวพยาธิอยู่ในสมองแล้ว ถ้าพยาธิไปอยู่ที่ส่วนไม่สำคัญและมีจำนวนน้อย ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดปรากฏ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะหายเป็นปกติ

pork2

การติดต่อของพยาธิตืดหมู

  1. จากการดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีไข่ของพยาธิ เช่น ผัก ผลไม้ ที่ผลิตผลอยู่บนดินหรือมีหัวอยู่ในดิน เช่น สตรอเบอรี่ แครอท หัวไชเท้า รวมทั้งพืชผักที่ใช้อุจจระของคนเป็นปุ๋ย เป็นต้น
  2. จากการรับประทานตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในกล้ามเนื้อของหมูซึ่งทำเป็นอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ลู่ หมู น้ำตก แหนมดิบ เป็นต้น
  3. จากการที่ขย้อนปล้องสุกเข้าสู่กระเพาะ ทำให้เหมือนเรากินไข่พยาธิเข้าไปกับอาหาร
  4. จากการที่ผู้ป่วยที่มีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้ ใช้มือล้างหรือเกาบริเวณทวารหนัก แล้วมีไข่พยาธิที่มาติดอยู่บริเวณนั้นติดนิ้วมือไป ถ้าผู้ป่วยไม่ล้างมือแล้วใช้มือจับอาหารเข้าปากหรืออมนิ้ว ก็จะได้ไข่พยาธิเข้าปากของตัวเอง โดยไม่ไปผ่านการเจริญเป็นซีสติเซอร์คัสในหมู ในกรณีนี้ผู้ป่วยจะทำหน้าที่เหมือนโฮสต์ตัวกลาง (Intermediate host) แทนหมูนั่นเอง การติดต่อวิธีนี้เกิดจากไดัรับไข่พยาธิจากอุจจระเข้าสู่ปากโดยตรง (Fecal-oral route) หรือติดเชื้อซ้ำโดยตนเอง (Autoinfection)

การวินิจฉัยโรคที่มีตัวเต็มวัยของพยาธิตืดหมูในลำไส้

  1. ประวัติอาการ (เช่น ปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืด ภาวะซีด) ประวัติถิ่นที่อยู่อาศัย ประเภทอาหารที่บริโภค อาชีพ การงาน และการตรวจร่างกาย
  2. การตรวจอุจจาระพบไข่พยาธิตืดหมู เป็นวิธีที่ทำง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
  3. พบปล้องสุก (Gravid proglottid) ที่หลุดออกมาปนกับอุจจาระ ที่สามารถนำไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพราะจะมีลักษณะอวัยวะภายในพยาธิที่ทำให้สามารถแยกชนิดของพยาธิตัวตืดได้ แต่มักจะพบหลังจากการได้รับไข่พยาธิไปแล้ว 3 เดือน
  4. ถ้ามีหัวของพยาธิ (Scolex) หลุดออกมาในอุจจาระด้วย จะทำให้ทราบชนิดของพยาธิตัวตืดได้แน่นอน เพราะรูปร่างลักษณะของหัวจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน
  5. การตรวจทางอิมมูโนวิทยา (Immunology ) เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อ หรือการหาแอนติเจนของเชิ้อ) เช่น ด้วยวิธีที่เรียกว่า ELISA (The Enzyme-linked immunosorbent assay) หรือด้วยวิธีการอื่นๆที่เหมาะสม
  6. การตรวจทางเทคนิคพันธุศาสตร์ เช่น การเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่พีซีอาร์ (Polymerase chain reaction)

 OrgWebTaeniaPile3
ที่มาภาพ http://bioweb.uwlax.edu/bio203/s2008/geske_rich/nutrition.htm

การวินิจฉัยโรคที่มีระยะเม็ดสาคูในเนื้อเยื่อของร่างกาย

  1. ตรวจพบตุ่มใต้ผิวหนัง เมื่อตัดออกไปตรวจจะพบถุงน้ำและพยาธิตัวอ่อน
  2. จากประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ประวัติอาการของผู้ป่วย เช่น อาการชัก ปวดศีรษะเรื้อ รังโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
  3. ตรวจภาพสมองหรือภาพกล้ามเนื้อด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอ จะพบ พยาธิเม็ดสาคู โดยพบถุงน้ำและตัวอ่อนอยู่ภายในลักษณะเป็นเงาสีขาวเป็นวงแหวนเนื่องจากมีแคลเซียมไปเกาะหรือการตรวจภาพรังสีของกล้ามเนื้อและกะโหลกจะพบหินปูนเป็นจุดๆ
  4. การตัดชิ้นเนื้อจากใต้ผิวหนังหรือสมอง เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

การรักษา

  1. ในคนที่มีซีสต์พยาธิตัวตืดในอวัยวะต่างๆ อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ถ้าไม่มีอาการ แต่ถ้าเป็นที่สมองและมีอาการ เช่น ชัก ปวดศีรษะมาก อาจต้องให้ ยารักษา หรือผ่าตัดตามความเหมาะสมยาที่ใช้รักษาคือยา พราซิควอนเทล (Praziquantel) โดยให้ในขนาด 50 มก./กก/วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือให้ยา อัลเบลดาโซล (Albendazole) ในขนาด 15 มก./กก/วัน แบ่งให้วันละ 2-3 ครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือการผ่าตัดเอาซีสต์ออกจากกล้ามเนื้อหรือจากสมองหรือจากไขสันหลัง
  2. ถ้าเป็นโรคพยาธิในลำไส้ ใช้ยานิโคลซาไมด์ (Niclosamide) ขนาด 0.5 กรัม ขนาดที่ใช้คือให้ 4 เม็ดเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน และให้ยาระบายร่วมด้วย ยาระบายจะให้หลังจากให้ยาฆ่าพยาธิแล้ว หรืออาจใช้ยาอัลเบลดาโซล หรือพราซิควอนเทล ก็ได้

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคพยาธิตืดหมู

  1. รับประทานยากำจัดพยาธิตามที่แพทย์สั่งจนครบ
  2. รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การไม่รับประทานเนื้อหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ ล้างผักสดให้สะอาดอย่างดีก่อนรับประทาน ล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
  3. ไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อการตรวจวินิจฉัยว่าโรคหายแล้ว และไม่มีการติดเชื้อซ้ำ

การป้องกันการติดโรคพยาธิตืดหมู และการควบคุมโรค

  1. ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเสมอ อย่าถ่ายอุจจาระลงแม่น้ำลำคลอง อย่าถ่ายอุจจาระลงพื้นดิน เพราะเป็นการทำให้ไข่อยู่ในดินและหมูมากินเข้าไปได้ ให้ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะเสมอ
  2. ไม่กินเนื้อหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบดิบ ลู่ แหนมสด เวลาซื้อเนื้อหมูต้องคอยสังเกตดูให้ดี ถ้าพบลักษณะมีตุ่มขาวเหมือนเม็ดสาคูเม็ดใหญ่ในเนื้อหมู ไม่ควรนำมารับประทาน
  3. ล้างมือให้สะอาดโดยฟอกสบู่หลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพื่อกำจัดไข่พยาธิที่อาจติดมือไปแพร่ให้ตนเองและผู้อื่นทางการปนเปื้อนอาหารได้ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ใช้ช้อนตักอาหารเข้าปาก หลีกเลี่ยงการใช้มือจับอาหารเข้าปาก
  4. ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานเสมอ เพราะในผักผลไม้สดอาจมีไข่พยาธิตัว ตืดปะปนมาได้ และไม่ใช้อุจจาระคนเป็นปุ๋ยรดต้นผัก
  5. สำหรับผู้ทำอาหารหรือเตรียมอาหาร ต้องล้างมือ ฟอกสบู่ ก่อนทำอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันไข่พยาธิปะปนลงไปในอาหาร
  6. ถ้าเดินทางไปประเทศที่การสาธารณสุขยังไม่ดี ต้องระมัดระวังเรื่องการดื่มน้ำและอาหารเป็นพิเศษ
  7. เลี้ยงหมูในคอกที่ถูกสุขลักษณะ อย่าปล่อยให้หมูหาอาหารกินเอง เพราะอาจได้รับไข่พยาธิในดินได้ และอาหารที่เลี้ยงหมูต้องระวังอย่าให้ปนเปื้อนอุจจาระของคน


เรียบเรียงจาก

  1. วิฑูรย์ ไวยนันท์ และ พีรพรรณ ตันอารีย์. (2546). ปรสิตวิทยาทางการแพทย์. กรุงเทพ : ศักดิโสภาการพิมพ์.
  2. โรคพยาธิตืดหมู. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา :  ลิงค์
  3. พนัส เฉลิมแสนยากร. พยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) โรคติดเชื้อพยาธิตืดหมู (Cysticercosis). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://goo.gl/e3esZr
  4. พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ และ นิธิยา รัตนาปนนท์. Taenia solium / พยาธิตืดหมู. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://goo.gl/T70uG9
  5. นิภา จรูญเวสม์. โรคพยาธิตืด. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://goo.gl/Bsmjpo
  6. โรคพยาธิตืดหมู. [ออนไลน์]. 2551. แหล่งที่มา : http://www.school.net.th/schoolnet/article/read.php?article_id=90
  7. เอื้อมพร  รัตนชาญพิชัย. ตัวตืดหมู และ ตัวตืดวัว. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : ลิงค์
  8. พยาธิตัวตืด ภัยมืดในร่างกายคุณ. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา :  http://www.tm.mahidol.ac.th/th/tropical-medicine-knowledge/new/Cestoda.html


โดย: ศ.ดร.พีรพรรณ ตันอารีย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Link: http://www.sc.mahidol.ac.th/usr/?p=444

4 ต.ค. 2561      9,126
แชร์บทความ:  
  

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ