เลือกภาษา    
ติดต่อสอบถาม 074-801900
233 ซอย 8 ถนนแสงศรี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
เวลาเปิดบริการ
เปิดบริการทุกวัน 24 ชั่วโมง

ทำความเข้าใจกับไขมันทรานส์ ทำไมสาธารณสุขถึงต้องห้ามจำหน่าย

ไขมัน เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย เพื่อใช้ทำกิจกรรมต่างๆ  โดยน้ำมัน  1  ช้อนชา  ให้ไขมัน  5  กรัม  พลังงาน  45  กิโลแคลอรี  นอกจากพลังงานแล้วไขมันยังให้ประโยชน์แก่ร่างกาย คือ 

  • ดูดซึมและสะสมวิตามินที่ละลายในไขมัน
  • ช่วยให้เซลล์ต่างๆ ของร่างกายเจริญเติบโต
  • ทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น/อาหารนุ่มลิ้นขึ้น

ประเภทของไขมัน

1. ไขมันหรือน้ำมันจากสัตว์ ได้แก่  :  น้ำมันหมู  น้ำมันไก่  น้ำมันจากวัว  ครีม  นมสด  เนย ไข่แดง เบคอน และหนังสัตว์ /มันสัตว์

  • มีคอเลสเตอรอลและกรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่จำเป็นต่อร่างกาย
  • ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง อาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบ

2. ไขมันหรือน้ำมันจากพืช แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

2.1 ชนิดที่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ได้แก่  :  น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันคาโนล่า น้ำมันรำข้าว งา ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์

  • เพิ่มระดับไขมันตัวดี (เอชดีแอล—คอเลสเตอรอล)
  • ลดระดับไขมันตัวร้าย (แอลดีแอล—คอเลสเตอรอล) และลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์
  • ช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลกลูโคสไปใช้ได้ดีขึ้น และช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินในผู้เป็นเบาหวาน

2.2 ชนิดที่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ได้แก่  :  น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด และน้ำสลัดต่างๆ

  • ลดระดับไขมันตัวร้าย (แอลดีแอล—คอเลสเตอรอล)
  • ถ้ากินในปริมาณที่มากเกินไปจะลดระดับไขมันตัวดี (เอชดีแอล—คอเลสเตอรอล)

2.3 ชนิดที่ให้กรดไขมันอิ่มตัว ได้แก่ : น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และกะทิ

  • ให้กรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งไม่ควรบริโภคมากเกินไป เพราะทำให้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

*รู้หรือไม่ ??? ไขมันตัวดี (เอชดีแอล—คอเลสเตอรอล) เพิ่มขึ้นได้จากการออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

 

ไขมันทรานส์

ไขมันทรานส์  (Trans  Fat)  หรือกรดไขมันทรานส์ (Trans  Fatty  acid)  เป็นกรดไขมันที่มีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างไปจากเดิม  ซึ่งเกิดจากทั้งสาเหตุธรรมชาติและจากกระบวนการอุตสาหกรรมที่มีการเติมไฮโดรเจนลงในน้ำมันพืช เรียกว่า “กระบวนการไฮโดรจิเนชั่น”

อันตรายจากไขมันทรานส์ : ทำให้เพิ่มระดับไขมันตัวร้ายและลดระดับไขมันตัวดี  และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

แหล่งอาหารที่มีไขมันทรานส์
อาหารที่พบว่ามีไขมันทรานส์อยู่จำนวนมาก  คือ  ขนมอบหรือเบเกอรีที่มีมาการีนและเนยขาวเป็นส่วนประกอบ เช่น  คุกกี้  แครกเกอร์  ขนมปัง  และขนมขบเคี้ยว  เป็นต้น และยังพบในครีมเทียม  อาหารอบ  อาหารทอด  และอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ
ไขมันทรานส์บางชนิดพบในผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ เช่น  เนย  นมสด  และเนื้อวัว  เป็นต้น  แต่พบในปริมาณเล็กน้อย

ข้อแนะนำในการบริโภคไขมัน

  • ลดการกินไขมันจากสัตว์ทุกชนิด  เลือกกินเนื้อสัตว์ที่ไม่มีมันและหนัง เนื้อปลา และนมพร่องหรือขาดมันเนย
  • เลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวในการทำอาหารเป็นประจำ เช่น น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าว
  • เลือกเมนูประเภทต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง และอบ เป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารผัดและทอด
  • ลดหรือหลีกเลี่ยงอาหารจานเดียวที่มีไขมันสูง  เช่น  หอยทอด ผัดไทย และข้าวขาหมู เป็นต้น
  • ลดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีมาการีนและเนยขาวเป็นส่วนประกอบ (มีกรดไขมันทรานส์)
  • อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง

ทราบได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีไขมันทรานส์

  • อ่านฉลากโภชนาการ ว่ามีไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์นี้หรือไม่
  • อ่านส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ หากมีส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial hydrogenation) หรือ น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจน (Hydrogenated oil) ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นอาจมีไขมันทรานส์ได้ ถึงแม้ว่าบนฉลากโภชนาการจะระบุว่า Trans fat 0.0 g เนื่องจากตามกฎหมายหากมีไขมันทรานส์ น้อยกว่า 0.5 g ให้ระบุบนฉลากได้ว่าเป็น Trans fat 0.0 g
  • หากผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากโภชนาการหรือฉลากอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น คุกกี้ โดนัท เค้ก พาย อาหารจานด่วน เช่น เฟรนช์ฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์ ขนมกรุบกรอบทั้งหลายก็ให้รับประทานแต่น้อย และไม่บ่อยครั้ง

บทความโดย: น.ส.ศรีวรรณ ทองแพง ศูนย์เบาหวานศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์:
http://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=1281
http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/727/Trans-Fat

21 ส.ค. 2561      3,970
แชร์บทความ:  
  

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ